5 เทคนิคเพิ่มความเร็วเว็บไซต์ คุณทำเองได้แบบไม่ต้องเขียน Code

5 เทคนิคเพิ่มความเร็วเว็บไซต์ คุณทำเองได้แบบไม่ต้องเขียน Code

Update

หากเว็บไซต์โหลดช้าเกิน 3 วินาที ผู้ใช้จะมีแนวโน้มที่จะออกจากเว็บไซต์มากถึง 53% ผลวิจัยนี้มาจาก Google Reseach และในยุคที่ความเร็วของเว็บไซต์มีผลกระทบโดยตรงต่อประสบการณ์ของผู้ใช้และการจัดอันดับ SEO ของ Google การnำเว็บไซต์ให้โหลดเร็วจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับต้น ๆ แต่ว่าการเพิ่มความเร็วเว็บไซต์หลายคนอาจจะคิดว่าจะต้องใช้โปรแกรมเมอร์ในการทำเท่านั้น แต่จริงๆแล้วคนที่ No-Code Low-Code แบบเราก็สามารถทำได้เอง

เว็บไซต์ช้าส่งผลกระทบต่อเรื่องอะไรบ้าง?

การที่เว็บไซต์โหลดช้าจะส่งผลกระทบต่อเว็บไซต์ในหลากหลายมิติทั้งในเรื่องประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) อัตราการออกจากหน้าเว็บ (Bounce Rate) ไปจนถึงเรื่องที่สำคัญของการทำเว็บไซต์เพื่อธุรกิจอย่าง Conversion Rate เป็นต้น

ผลกระทบต่อ SEO

ความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ Google ใช้ในการจัดอันดับเว็บไซต์ หากเว็บไซต์โหลดช้า อาจทำให้คะแนน SEO ลดลงได้ และจะส่งผลให้การจัดอันดับเว็บไซต์ใน Search Results ต่ำลงและมีโอกาสน้อยที่จะถูกพบเจอจากผู้ใช้

ผลกระทบต่อ User Experience

เว็บไซต์ที่โหลดช้าอาจทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น การกดคลิกที่ละครั้งใช้เวลาโหลดหน้าเว็บไซต์นาน ซึ่งจะลดความพึงพอใจในการใช้งานและทำให้ผู้ใช้ไม่กลับมาใช้งานเว็บไซต์ซ้ำ ส่งผลให้ประสบการณ์โดยรวมของผู้ใช้แย่ลง

ผลกระทบต่อ Bounce Rate

เมื่อเว็บไซต์โหลดช้า ผู้ใช้มีแนวโน้มที่จะปิดหน้าเว็บไซต์ก่อนที่เนื้อหาส่วนที่สำคัญจะโหลดเสร็จ ซึ่งทำให้อัตราการออกจากหน้าเว็บ (Bounce Rate) สูงขึ้น เป็นสัญญาณเชิงลบต่อทั้ง SEO และความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์

ผลกระทบต่อ Conversion Rate

เว็บไซต์ที่โหลดช้าจะลดโอกาสในการเกิด Conversion จากผู้ใช้ เช่น การซื้อสินค้า การกรอกข้อมูล หรือการกระทำที่สำคัญอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อธุรกิจ โดยผู้ใช้มักจะออกจากเว็บไซต์ก่อนที่จะทำการกระทำใด ๆ ส่งผลให้ Conversion Rate นั้นลดลง

เพิ่มความเร็วเว็บไซต์ คุณทำเองได้

วิธีทดสอบความเร็วของเว็บไซต์

การทดสอบความเร็วของเว็บไซต์ที่เป็นมาตรฐานจะสามารถนำไปทดสอบได้ 2 เครื่องมือคือ PageSpeed Insights ของ Google และอีกเครื่องมือคือ GTmetrix ซึ่งทั้งสองเครื่องมือนี้มีจุดเด่นและข้อมูลที่นำเสนอแตกต่างกัน

PageSpeed Insights

โดย PageSpeed Insights ของ Google จะให้คะแนนตามเกณฑ์ของ Google Core Web Vitals ที่มุ่งเน้นในเรื่องของความเร็วการโหลด การตอบสนองของหน้าเว็บ (Responsiveness) และการแสดงผลอย่างสมบูรณ์ของเนื้อหา

ผลการทดสอบความเร็วเว็บไซต์ Grappik จาก PageSpeed Insights ของ Google

GTmetrix

GTmetrix จะให้ข้อมูลที่ลึกขึ้นในด้านการใช้ทรัพยากรของเว็บไซต์และการจัดการกับโค้ด โดยสามารถใช้เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาการตอบสนองของเซิร์ฟเวอร์และการโหลดขององค์ประกอบต่าง ๆ ในเว็บไซต์ เช่น รูปภาพ ไฟล์ CSS Code และ JavaScript Code

ผลการทดสอบความเร็วเว็บไซต์ Grappik จาก GTmetrix

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าเว็บไซต์ที่โหลดช้าส่งผลกระทบต่อเรื่องอะไรบ้าง รวมถึงเครื่องมือในการทดสอบความเร็วของเว็บไซต์ ก่อนที่จะไปดูเทคนิคในการเพิ่มความเร็วเว็บไซต์ เราขอแนะนำให้คุณตรวจสอบก่อนว่าเว็บไซต์ของคุณมีความเร็วที่ดีเพียงพอหรือไม่ หากเว็บไซต์ของคุณมีความเร็วที่ดีอยู่แล้ว บทความนี้อาจช่วยให้คุณปรับปรุงคะแนนจนเต็ม 100 ได้ แต่หากผลการทดสอบไม่เป็นที่น่าพอใจ บทความนี้จะช่วยให้คุณปรับปรุงความเร็วเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

5 เทคนิคเพิ่มความเร็วเว็บไซต์ ทำเองได้ง่าย ๆ

นอกจากเทคนิคที่เราจะแนะนำให้คุณลองนำไปปรับใช้เอง ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถช่วยเพิ่มความเร็วให้กับเว็บไซต์ได้ แต่บางวิธีอาจจะซับซ้อนและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากผู้ที่มีประสบการณ์ หรือการทำงานร่วมกับโปรแกรมเมอร์โดยตรง เช่น การปรับแต่งเซิร์ฟเวอร์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน การเขียนโค้ดที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การเลือกใช้ฐานข้อมูลที่เหมาะสม หรือการปรับปรุงการโหลดข้อมูลจาก API ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่สามารถสร้างความแตกต่างอย่างมากในด้านความเร็วของเว็บไซต์ แต่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในการดำเนินการ

1. การลดหรือบีบอัดขนาดรูปภาพ

รูปภาพถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเว็บไซต์ โดยมักจะมีสัดส่วนมากเป็นอันดับสองรองจากข้อความ รูปภาพที่มีคุณภาพสูงและคมชัดมักจะมาพร้อมกับขนาดไฟล์ที่ใหญ่ ซึ่งถ้าในหน้าเว็บไซต์นั้นมีจำนวนรูปภาพมาก ก็อาจทำให้การโหลดหน้าเว็บช้าลง

การลดหรือบีบอัดขนาดรูปภาพเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดขนาดไฟล์ของรูปภาพโดยไม่กระทบต่อคุณภาพ วิธีนี้ช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการโหลดหน้าเว็บลงได้อย่างมาก โดยมีเครื่องมือที่แนะนำเพื่อใช้บีบอัดรูปภาพ เช่น TinyPNG, JPEG Optimizer หรือใน CMS อย่าง WordPress ก็สามารถบีบอัดรูปภาพได้อัตโนมัติเมื่ออัปโหลดภาพเข้าไป

การลดหรือบีบอัดขนาดรูปภาพ เพื่อเพิ่มความเร็วเว็บไซต์

2. การใช้รูปภาพ WebP แทน JPEG และ PNG

การเปลี่ยนมาใช้รูปภาพในรูปแบบ WebP แทน JPEG และ PNG เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มความเร็วในการโหลดเว็บไซต์อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก WebP สามารถบีบอัดไฟล์ได้เล็กลงกว่าแต่ยังคงคุณภาพของภาพไว้ได้ดี ทำให้หน้าเว็บไซต์โหลดได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเมื่อใช้กับภาพที่มีจำนวนมากในหน้าเดียวกัน

หากต้องการแปลง JPEG และ PNG เป็น WebP มีหลากหลายเครื่องมือที่สามารถช่วยแปลงไฟล์ได้ฟรี เช่น CloudConvert, Convertio หรือ Squoosh

วิธีการแปลงรูปภาพ PNG เป็น WebP ด้วย CloudConvert

3. การใช้ระบบ Caching

การใช้ระบบ Caching เป็นวิธีที่ช่วยให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้นอย่างมาก โดยวิธีการคือการเก็บข้อมูลบางส่วนของเว็บไซต์ไว้ในหน่วยความจำที่สามารถเรียกใช้ได้ทันที แทนที่จะต้องโหลดข้อมูลใหม่ทุกครั้งเวลามีผู้ใช้เข้าใช้งาน การใช้ระบบ Caching สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับประเภทและแพลตฟอร์มของเว็บไซต์ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบหลักดังนี้

การใช้ Caching แบบปกติ (Server-Side Caching)

การใช้ Cache แบบปกติจะเป็นการจัดการโดยตรงผ่านเซิร์ฟเวอร์ โดยมักจะใช้ระบบแคชที่อยู่บนเซิร์ฟเวอร์เพื่อบันทึกข้อมูลที่ใช้บ่อย ช่วยให้การเรียกข้อมูลที่เก็บไว้ทำได้รวดเร็ว เช่น การบันทึกไฟล์ HTML หรือข้อมูลฐานข้อมูลที่เคยดึงมาก่อน

การใช้ Cloudflare สำหรับ Caching

Cloudflare มีระบบ Cache ในตัวซึ่งจะทำการเก็บสำเนาของไฟล์เว็บไซต์ เช่น รูปภาพ, ไฟล์ CSS Code, JavaScript Code และ HTML Code ไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของ Cloudflare ที่กระจายอยู่ทั่วโลก วิธีนี้ช่วยลดเวลาในการโหลดเว็บไซต์จากจุดต่าง ๆ ที่ไกลจากเซิร์ฟเวอร์หลัก และยังมีฟีเจอร์ Cache ที่สามารถตั้งค่าได้ตามต้องการ เช่น การตั้งค่า Cache แบบอัตโนมัติ หรือตั้งค่าช่วงเวลาในการ Refresh Cache

การใช้ Cloudflare สำหรับ Caching ของเว็บไซต์ Grappik Agency

การใช้ Plugin สำหรับ Caching ใน WordPress

สำหรับผู้ที่ใช้ WordPress สามารถใช้ Plugins เพื่อจัดการ Cache ได้อย่างสะดวก โดย Plugins จะช่วยจัดการ Cache ทั้งไฟล์ HTML, CSS, JavaScript และการดึงข้อมูลจากฐานข้อมูล โดยไม่ต้องมีความรู้ทางเทคนิคมาก่อน โดยมี Plugins ที่แนะนำมีดังนี้ WP Rocket, W3 Total Cache, WP Super Cache, LiteSpeed Cache และ Autoptimize

4. เลือกใช้ CDN (Content Delivery Network)

การใช้ CDN (Content Delivery Network) เป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความเร็วเว็บไซต์ โดย CDN ทำหน้าที่กระจายเนื้อหาของเว็บไซต์ไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ทั่วโลก เมื่อผู้ใช้เรียกดูเว็บไซต์ ข้อมูลจะถูกดึงจากเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ใกล้กับผู้ใช้ที่สุด ทำให้การโหลดหน้าเว็บไซต์เร็วขึ้น โดย CDN ที่แนะนำมีดังนี้ Cloudflare, Amazon CloudFront, Akamai, StackPath, KeyCDN

Cloudflare CDN

5. โหลดหน้าเว็บไซต์แบบ Lazy Load

Lazy Load เป็นเทคนิคที่ช่วยให้เว็บไซต์โหลดได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องโหลดทุกองค์ประกอบพร้อมกันในคราวเดียว การใช้ Lazy Load จะทำให้เนื้อหาบางส่วน เช่น รูปภาพหรือวิดีโอ ถูกโหลดเมื่อผู้ใช้เลื่อนหน้าลงไปยังจุดที่มีเนื้อหานั้น ๆ อยู่เท่านั้น แทนที่จะโหลดทั้งหมดตั้งแต่แรก ซึ่งช่วยลดเวลาในการโหลดเว็บไซต์และทำให้ประสบการณ์ผู้ใช้ดีขึ้น

การทำ Lazy Load สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยใช้เครื่องมือหรือ Plugins ซึ่งสามารถติดตั้งและตั้งค่าได้โดยไม่ต้องมีความรู้ด้านการเขียน Code เช่น การใช้ปลั๊กอินใน WordPress อย่าง Lazy Load by WP Rocket, การใช้ Automatic Platform Optimization บน Cloudflare เป็นต้น

สรุป

การเพิ่มความเร็วเว็บไซต์เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดี และยังมีผลโดยตรงต่อการจัดอันดับ SEO ของเว็บไซต์อีกด้วย 5 เทคนิคง่าย ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้เองทันที ได้แก่ การลดหรือบีบอัดขนาดรูปภาพ การใช้รูปภาพในรูปแบบ WebP แทน JPEG และ PNG การใช้ระบบ Caching เลือกใช้ CDN และการโหลดแบบ Lazy Load เทคนิคเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มความเร็วในการโหลดเว็บไซต์ แต่ยังลดการใช้ทรัพยากรเซิร์ฟเวอร์ ทำให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้จะมีเทคนิคที่ซับซ้อนกว่าและอาจต้องการความเชี่ยวชาญจากโปรแกรมเมอร์ แต่การเริ่มต้นด้วยเทคนิคพื้นฐานเหล่านี้สามารถสร้างความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในด้านประสิทธิภาพเว็บไซต์ และช่วยให้คุณเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต