หลายคนอาจจะคิดว่าเว็บไซต์ฟังเพลงจะเกี่ยวอะไรกับงานกราฟิก ? แต่เราเชื่อว่านักออกแบบทั้งหลายเวลาทำงานสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือเสียงเพลงที่ขับกล่อมเราในระหว่างทำงาน ที่ช่วยให้สมองไหลลื่น ทำงานได้อย่างไม่น่าเบื่อ
วันนี้เรามาพบกับบทสัมภาษณ์จากทางเว็บไซต์ fungjai.com ซึ่งเป็นเว็บที่เราชอบเปิดเป็นอันดับต้นๆ ในตอนทำงานเลยทีเดียว ซึ่งปกติเราจะเป็นคนชอบฟังเพลง ชอบคอนเสิร์ต ชอบฟังศิลปินวงเล็กๆ ซึ่งเว็บไซต์ fungjai.com สามารถตอบโจทย์ของเราได้ทุกข้อในการฟังเพลง สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักเว็บไซต์ fungjai.com เราจะขอเกริ่นนําว่าคือ ชุมชนของคนรักเสียงเพลงนั่นเอง
ทีมงาน Grappik : อยากให้แนะนำตัวว่าเว็บไซต์ฟังใจ คืออะไร
ทีมงาน ฟังใจ : โดยทั่วไป เราจะสื่อสารออกไปว่าฟังใจคือบริการให้ฟังเพลงออนไลน์ระบบ Music Streaming ที่ผู้ฟังสามารถเข้ามาฟังเพลงได้ฟรีๆ โดยเพลงที่อยู่ในระบบของฟังใจนั้นไม่มีการจำกัดทั้งค่าย, แนวดนตรี, ชื่อเสียง หรือกาลเวลา เป็นเพลงที่ผลิตโดยศิลปินจากทั่วประเทศ ทั้งที่มีและไม่มีสังกัด โดยสามารถฟังได้ผ่านทั้ง Web Browser และบน smartphone ทั้งระบบ iOS และ Android
แต่จริงๆแล้ว ฟังใจมีอีกหลายด้านมากกว่านั้น สรุปโดยภาพกว้าง ฟังใจคือชุมชนของคนรักเสียงเพลงและวงการดนตรี ที่พบปะกันทั้งในโลกออนไลน์ และในโลกความเป็นจริง โดยจุดประสงค์หลักของฟังใจ คือการมีส่วนช่วยในการพัฒนาวงการดนตรีของประเทศไทย ให้ทุกคนที่ทำงานในวงการดนตรี สามารถมีอาชีพที่มั่นคง และเลี้ยงดูตนเองได้ รวมทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของดนตรีไทยไปสู่ตลาดนานาชาติได้
ชื่อของฟังใจมีที่มาจากคำว่าอาณาจักร ‘ฟังไจ’ (Fungi Kingdom) โดยได้เปรียบว่าโลกดนตรีนั้นมีความหลากหลายน่าสนใจ บางครั้งต้องตั้งใจหาจึงค้นพบ โดยเสียงเพลงจะเดินทางมาสู่โสตประสาทของเราทางอากาศ เสมือนอาณาจักรฟังไจอันประกอบด้วยเห็ด รา และยีสต์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เติบโตอยู่ในซอกหลืบ และแพร่พันธุ์ทางอากาศด้วยสปอร์ ทำให้เป็นที่มาของการใช้แนวคิด “เห็ดๆ” ในกิจกรรมและเนื้อหาต่างๆ นอกจากนี้ เรายังให้นิยามคำว่าฟังใจ (Fungjai) ในภาษาไทยได้ ว่าเป็นการฟังเพลงด้วยใจที่เปิดกว้างนั่นเอง
ในภาคออนไลน์ นอกจากระบบ Music Streaming แล้ว เรายังมีนิตยสารออนไลน์ชื่อว่า ‘ฟังใจซีน’ (Fungjaizine.com) ที่นำเสนอเรื่องราวในวงการดนตรีในแง่มุมที่แตกต่างจากสื่อดนตรีอื่นๆ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ต่างๆที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจในอุตสาหกรรมดนตรีสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อพูดคุยและประชาสัมพันธ์ไปถึงชุมชนของฟังใจผ่านทางโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram หรือ YouTube (เซิร์ชชื่อ hellofungjai ได้ทุกช่องทาง)
ในภาคออฟไลน์ ฟังใจจัดคอนเสิร์ตชื่อว่า ‘เห็ดสด’ ซึ่งจัดมาแล้วสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะมีวงดนตรี 6 วงที่มีแนวเพลงที่แตกต่างกัน และเป็นส่วนผสมระหว่างวงรุ่นก่อนระดับตำนาน วงรุ่นปัจจุบันที่เป็นที่รู้จัก และวงรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในวงการ โดยนอกจากคอนเสิร์ต ฟังใจยังมีการจัดงานสัมมนาที่มีชื่อว่า ‘เห็ดyoung’ ทุกๆสองเดือน โดยมีหัวข้อที่แตกต่างกันไป เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ดนตรี การขายเพลงออนไลน์ การแต่งเพลง การเตรียมตัวเข้าห้องอัด เป็นต้น
ทีมงาน Grappik : อะไรคือสิ่งดึงดูดให้เรามาเปิดเว็บไซต์ฟังใจ
ทีมงาน ฟังใจ : ฟังใจเริ่มขึ้นมาจาก ‘ท้อป’ ศรัญย์ ภิญญรัตน์ ที่ต้องการรวบรวมเพลงแบบที่เขาชอบให้อยู่ในที่เดียว และสร้างประสบการณ์การฟังเพลงและค้นพบเพลงใหม่ๆที่ดีที่สุด ด้วยไอเดียนี้ เขาได้ชักชวนทีม Devloper ได้แก่ ‘บอล’ ชุติพงศ์ ขู่วิชัย, ‘แชมป์’ อรรณพ กอบกิจ และ ‘เป้’ จิรโมท นุ่มนาม มาสร้างแพลตฟอร์มการฟังเพลงแบบ Music Streaming และเริ่มรวบรวมเสาะหาเพลงมาเข้าระบบโดยการเข้าไปขออนุญาตเจ้าของเพลงโดยตรง ทั้งที่เป็นศิลปินอิสระและค่ายเพลง ต่อมาได้มาพบกับ ‘พาย’ ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ที่กำลังทำโปรเจ็คต์ที่คล้ายๆกัน แต่เน้นไปทางการรวบรวมชุมชนของศิลปินนักดนตรีผู้สร้างผลงานเพลง ซึ่งพอประสานไอเดียกันแล้ว ทำให้ฟังใจมีความสมบูรณ์มากขึ้น คือมีผู้สร้างผลงานเพลงป้อนให้กับระบบแพลตฟอร์มการฟังเพลง
ทีมงาน Grappik : จุดเด่นของเว็บไซต์ฟังใจ
ทีมงาน ฟังใจ : จุดเด่นหลักของฟังใจ คือชุมชนของคนที่รักในเสียงดนตรี ทั้งที่เป็นผู้ฟัง ผู้สร้างผลงานเพลง และคนทำงานในวงการดนตรี ทั้งที่เป็นมืออาชีพและมือสมัครเล่น รวมถึงทีมทำงานของฟังใจเองที่มีความสร้างสรรค์ สร้างคอนเท้นต์ที่แปลกใหม่น่าสนใจได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผู้รับสารจากฟังใจไม่เกิดความเบื่อหน่าย และสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้อย่างสนุกสนาน
ตัวอย่างหนึ่งที่ฟังใจเด่นกว่า Music Streaming อื่นๆ ก็คือเรามีทีมงานที่เป็นนักฟังเพลงตัวยงอยู่หลายคน ที่มีความสามารถในการจัดเรียง playlist ที่มีธีมที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ทำให้ผู้ใช้ฟังใจได้ค้นพบเพลงใหม่ๆที่เขาอาจไม่มีทางค้นพบได้ที่อื่น ในบริบทที่น่าสนใจอีกด้วย
ทีมงาน Grappik : อยากเห็นวงการเพลงในประเทศไทยจะเป็นยังไงในอนาคต
ทีมงาน ฟังใจ : จุดหมายปลายทางที่เราอยากเห็นก็คือ ทุกอาชีพในวงการดนตรีเป็นที่ยอมรับนับถือ และมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินนักดนตรีอิสระ Sound Engineer, Backstage หรือ Technician นอกจากนี้ เรายังต้องการให้ดนตรีเป็นสินค้าออกของประเทศไทยได้ ให้ดนตรีจากประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางดนตรีระดับโลก มีเทศกาลดนตรีที่ผู้คนจากทั่วโลกจะเดินทางมาเข้าร่วม เฉกเช่นงาน Woodstock, Coachella และ Glastonbury และมีผู้คนเดินทางไปชมซีนดนตรีท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทยอีกด้วย
ทีมงาน Grappik : คิดยังไงเกี่ยวกับเรื่องคนไทยกับลิขสิทธิ์เพลง
ทีมงาน ฟังใจ : อย่างแรกเลยคิดว่าเป็นเพราะคนทั่วไปไม่เข้าใจว่ารายได้ของศิลปินและค่าลิขสิทธิ์มีความเกี่ยวข้อกันอย่างไร ทำให้การเก็บค่าลิขสิทธิ์มองดูเป็นเรื่องของการรีดไถโดยค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ร่ำรวย แทนที่จะเห็นว่าค่าลิขสิทธิ์นั้นเป็นแหล่งรายได้โดยตรงของอาชีพนักดนตรีและนักแต่งเพลง
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงกับคนไทยนั้นเป็นปัญหาที่เรื้อรังและทับถมมานาน เพราะมันไม่ใช่แค่เทปผีซีดีเถื่อน แผ่น mp3 หรือเว็บฯดาวน์โหลดฟรี ที่ทำให้คนไทยชินกับการละเมิดลิขสิทธิ์ ฟังเพลงฟรีๆหรือถูกกว่าท้องตลาด แต่ศิลปินหรือค่ายเพลงที่ออกมาเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์ถูกมองว่าเห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน ไม่มีน้ำใจ ซึ่งปัญหานี้อาจมองได้ว่ามีต้นตอมาจากวัฒนธรรมการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการรักพวกพ้องของคนไทย ยกตัวอย่างเรื่องการลอกการบ้านและข้อสอบของเด็กนักเรียน หรือแม้จนระดับมหาวิทยาลัยก็ยังมีอยู่ คือพวกเขามองว่าถ้าเป็นเพื่อนกันก็ต้องช่วยเหลือกัน ให้สอบผ่านไปด้วยกัน เพื่อนที่เก่งกว่า ถ้ารักเพื่อนก็ต้องให้ลอก คนที่ไม่ให้ลอกจะถูกมองเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่เกรดของตัวเองคนเดียว ซึ่งความคิดแบบนี้ แท้จริงแล้วเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของกันและกัน แม้รู้ว่าละเมิด แต่ด้วยความกดดันทางสังคม ทำให้ฝ่ายถูกละเมิดต้องยอม เพราะฉะนั้น หากจะแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง นอกจากจะต้องให้การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องและทั่วถึง รวมไปถึงการบรรจุไว้ในบทเรียนตั้งแต่เล็กๆแล้ว จะต้องมีการปรับปรุงวัฒนธรรมทางศีลธรรมอีกด้วย ทำให้เด็กนักเรียนเคารพสิทธิเสรีภาพของเพื่อนโดยไม่ลอกการบ้านหรือข้อสอบ
ทีมงาน Grappik : ในอนาคตคิดว่าเว็บฟังใจจะเป็นอย่างไร
ทีมงาน ฟังใจ : เรามองว่าเว็บฯฟังใจ ต่อไปจะต้องไม่ใช่เพียงสตรีมมิ่งเพียงอย่างเดียว เหตุผลก็คือ สตรีมมิ่งเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเว็บฯที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อที่จะดึงรายได้ส่วนที่เสียไปให้กลับมาใหม่ เพราะฉะนั้น การต่อสู้กับสิ่งที่ฟรีก็คือต้องสู้ด้วยของฟรีหรือถูกมากๆเช่นกัน ทำให้สตรีมมิ่งไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้ศิลปินนักดนตรีมีรายได้ที่มากเพียงพอ หากแต่เป็นวิธีการเผยแพร่ให้เข้าถึงหูของแฟนเพลง ให้พวกเขาได้ค้นพบศิลปินใหม่ๆ ให้ได้ฟังเพลง เมื่อฟังจนชอบจนรัก สุดท้ายก็คือตัดสินใจซื้อผ่านช่องทางต่างๆ เช่น iTunes ซื้อบัตรคอนเสิร์ต หรือซื้อสินค้าต่างๆ ของศิลปิน
สตรีมมิ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้แฟนเพลงได้ค้นพบเพลงใหม่ๆ และได้ฟังเพลงบ่อยๆ ซึ่งพวกเราคาดการณ์กันว่า ถึงวันหนึ่งสตรีมมิ่งก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างฟรีๆ (เสมือนวิทยุในปัจจุบัน) เพราะฉะนั้น เพื่อให้ให้วงจรการพัฒนาวงการฯ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ฟังใจจะต้องช่วยให้ศิลปินมีรายได้ที่มากขึ้น โดยการสร้างเครื่องมือใหม่ๆ เช่น การซื้อเพลงดาวน์โหลด การทำร้านขายสินค้าออนไลน์ (e-Commerce) เครื่องมือในการขายตั๋วออนไลน์ (Online Ticketing) และเครื่องมือการระดมทุนมวลชน (Crowdfunding) เป็นต้น
ทีมงาน Grappik : เชิญชวนคนอ่านสักให้ร่วมพัฒนาวงการเพลงไทยกันหน่อยครับ
ทีมงาน ฟังใจ : วงการดนตรีของประเทศไทย โดยเฉพาะวงการดนตรีอิสระ กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ ทำให้มีเพลงดีๆมีคุณภาพถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง เราคิดว่าดนตรีของเราสามารถกลายเป็นสินค้าออกของประเทศได้เลยทีเดียว โดยการส่งเสียงเพลงไปสู่ตลาดนานาชาติ ทั้งตลาดของผู้ฟังทั่วไป และตลาดบันเทิงอื่นๆ เช่น การใช้เพลงไทยประกอบโฆษณา ภาพยนตร์ ละครซีรีย์ ฯลฯ นอกจากนี้ เรายังสามารถส่งศิลปินไทยไปแสดงในเทศกาลดนตรีต่างประเทศ และดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชมการแสดงดนตรีสดในเทศกาลดนตรีที่จัดในเมืองไทย และสนับสนุนให้ได้เดินทางไปต่อยังซีนดนตรีท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การจะไปถึงจุดนั้นได้ คนไทยต้องช่วยกันสนับสนุนศิลปินไทยด้วยกันก่อน เราต้องยอมรับศักยภาพของตัวเองก่อนที่จะให้คนต่างชาติมายอมรับจึงจะมีความมั่นคงยั่งยืน เพียงเราผลักดันให้ผู้สร้างสรรค์งานดนตรีสามารถสร้างเสียงดนตรีต่อไปได้ด้วยการอุดหนุนพวกเขา ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของพวกเขา แค่นี้ ทุกคนก็ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวงการดนตรีบ้านเราแล้วครับ
ขอบคุณ fungjai.com
ขอบคุณรูปภาพจาก www.facebook.com/hellofungjai