คู่มือการเลือกใช้ไฟล์สำหรับงานออกแบบและภาพถ่าย

Update

ทุกๆคนล้วนรู้จักกับชนิดของไฟล์ภาพต่างๆไม่ว่าจะเป็น JPEG, PNG, GIF และอีกมากมายที่เคยเห็นผ่านตากันมาไม่มากก็น้อย การเลือกใช้ไฟล์ให้เหมาะสมกับงานออกแบบหรืองานภาพถ่ายนั้นจำเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้งานที่เราทำนั้นมีคุณภาพที่ดีเยี่ยม

ชนิดไฟล์แต่ละชนิดมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน งานบางงานเหมาะกับการใช้ JPEG  หรืองานบางนั้นไม่ควรใช้ JPEG เลย ก่อนที่เราจะเลือกใช้ไฟล์ต่างๆในการทำงานหรือการ Export งานให้ออกมาอยู่ในรูปแบบของไฟล์แล้ว เราควรจะรู้ก่อนว่าไฟล์แต่ละชนิดเป็นอย่างไรบ้าง เหมาะกับการใช้งานแบบไหนบ้าง เรามาดูและศึกษาไปพร้อมๆกันเลย

JPG (Joint Photo Expert Group) เรียกแบบไทยๆว่า “เจพีจี”

JPG เป็นชนิดไฟล์ที่คนใช้กันมากเพราะเป็นไฟล์ที่เราพบเห็นได้ทั่วไปบนเว็บไซต์หรือในคอมพิวเตอร์ของเรา JPG ไฟล์มีขนาดเล็กเพราะถูกบีบอัดมาแล้ว จึงทำให้มันเป็นไฟล์ที่คุณภาพไม่ค่อยดีนัก ไม่เหมาะกับงานพิมพ์ที่คุณภาพสูงๆเท่าไหร่ แต่ถ้าหากใช้บนเว็บ JPG ก็ถือว่าเป็นไฟล์ที่สามารถใช้งานได้ดี แต่ต้องอย่าลืมบีบอีดคุณภาพไฟล์ทุกครั้งก่อนใช้งานเพราะยิ่งไฟล์ภาพใหญ่เว็บของเราก็จะโหลดช้าไปด้วย


GIF (Graphic Interchange Format) เรียกแบบไทยๆว่า “กิ๊ฟ” หรือ “ภาพดุ๊กดิ๊ก”

เห็นกันเป็นประจำอยู่แล้วสำหรับภาพ  GIF ที่ในปี 2017 นี้มันฮิตเอามากๆถึงขนาด Facebook ยังต้องมี Function เอาไว้รองรับให้พวกเราค้นหาภาพตลกๆมาเล่นได้กันเรื่อยๆเลย แม้กระทั่งบนเว็บไซต์หลายๆเว็บก็ได้ใช้ไฟล์ GIF มาแทนวีดีโอในบางจุดเป็นที่เรียบร้อย เพราะด้วยขนาดไฟล์ที่มีขนาดเล็กแถมยังมีการเคลื่อนไหวใครบ้างละจะไม่ชอบ

มีแต่ข้อดีก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียเลยถ้าสังเกตดีๆเจ้าไฟล์ GIF พวกนี้คุณภาพของภาพมันห่วยเอามากๆ ความคมไม่มีความเข้มของสีไม่มีปรากฏ เพราะว่าด้วยชนิดของไฟล์ไม่สามารถมีคุณภาพสีได้เท่าไฟล์ภาพ JPEG และ PNG จึงไม่แปลกใจเลยว่าภาพ GIF นั้นความคมชัดหายไปหมด


PNG (Portable Network Graphic) เรียกแบบไทยๆว่า “พีเอ็นจี”

ไฟล์ PNG ที่เห็นใช้กันเยอะมากๆก็คงจะหมีไม่พ้นเว็บไซต์ เพราะด้วย PNG นั้นสามารถทำไฟล์ให้มีพื้นหลังโปร่งใสได้แถวยังคงความคมของกราฟิกไว้ได้ดีอีกด้วย จริงๆแล้วมันถูกทำไว้เพื่อใช้ทดแทนไฟล์ GIF ด้วยความที่เก็บสีได้มากกว่าเก็บความละเอียดของภาพได้มากกว่า จึงไม่แปลกที่คนทำเว็บนิยมใช้กันอย่างมาก


PSD (Photoshop Document) เรียกแบบไทยๆว่า “พีเอสดี” หรือ “ไฟล์โฟโต้ช็อป”

ไฟล์ PSD เป็นไฟล์พื้นฐานของโปรแกรม Photoshop โดยทุกครั้งที่เรากด Save งานระบบจะถามเสมอว่าให้เรา Save เป็นไฟล์แบบ PSD หรือไม่ ไฟล์ PSD เป็นไฟล์ Original ของงานทุกชิ้นก่อนจะออกมาเป็น Artwork ให้เราได้เห็นกันบนจอคอมพิวเตอร์หรือบนสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ

ชนิดไฟล์

ไฟล์ PSD สามารถเปิดเข้าไปแก้ไขเมื่อใดก็ได้ เพราะเป็นไฟล์ที่พร้อมสำหรับการแก้ไขงานได้ตลอดเวลา แต่รูปแบบไฟล์จะมีขนาดใหญ่มากๆ แต่เราก็มีวิธีการทำให้ไฟล์นั้นเล็กลงได้ เข้าไปอ่านได้ในนี้เลย https://goo.gl/UQJz3j


TIFF (Tagged Image File Format) เรียกแบบไทยๆว่า “ทิป”

เป็นไฟล์ที่เก่าแก่มากๆของตระกูลภาพถ่ายและตระกูล Photoshop ไม่มีการบีบอัดไฟล์ใดๆทั้งสิ้นและไม่สามารถทำ Transparent ได้เลย เหมาะสำหรับงานพิมพ์คุณภาพสูงๆเพราะขนาดไฟล์ที่มีขนาดใหญ่และความคมชัดสูง ใช้สีแบบ 16 Bit เก็บค่าสีได้มากกว่าไฟล์ภาพอื่นๆ


EPS (Encapsulated Postscript) เรียกแบบไทยๆว่า “อีพีเอส”

เป็นไฟล์เวกเตอร์สร้างโดยโปรแกรม Adobe Illustrator สามารถนำไปแก้ไขได้ต่อโดยไม่เสียรายละเอียดคุณภาพของกราฟิกเลยแม้แต่น้อย และสามารถเปิดใช้งานบน Photoshop ได้ทันที แต่ถ้าจากจะแก้ไขต้องเข้าไปแก้ไขที่ไฟล์ต้นฉบับที่เป็นไฟล์ Illustrator เท่านั้น


ไฟล์ทุกไฟล์ที่กล่าวมานั้นนักออกแบบทุกคนต้องเจอกันประจำอย่างแน่นอน จำให้ขึ้นใจว่าไฟล์ชนิดไหนเหมาะกับงานอะไรแล้วเลือกใช้งานให้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน