เทรนด์ Creative 2022 จะมีอะไรเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน ทางคุณ เบรนด้า ไมลิส หัวหน้าด้านการให้บริการครีเอทีฟและวิชวลเทรนด์ของ Adobe Stock ได้ทำการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นเอาไว้ให้ทุกคนได้เตรียมตัวดังนี้
เราใช้ชีวิตกันบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการประชุมผ่านวิดีโอ การทำงานจากที่บ้านโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล เครือข่ายโซเชียลมีเดีย การเล่นเกมออนไลน์ และล่าสุดคือ เมตาเวิร์ส (Metaverse) ซึ่งกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีสองหัวข้อหลักที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด ข้อแรกคือ ผู้คนกำลังโหยหาพลังบวกและการมองโลกในแง่ดี รวมถึงความร่าเริง ความเพ้อฝัน และการเล่นสนุก โดยกระแสนี้เกิดขึ้นในคนทุกเพศทุกวัย และพบเห็นได้ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และข้อสองคือ เรามีความต้องการความสัมพันธ์ที่มีคุณค่า และจริงใจมากขึ้น เพื่อตัวเราและคนที่เรารัก
สองกระแสหลักที่เป็นแรงขับเคลื่อนนี้เกิดขึ้นจากความรู้สึกในส่วนลึกของมนุษย์ และมีส่วนเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในแง่ของการจุดประกายความคิดและภาพที่ใช้ในการแสดงออก เราพบเห็นผลงานที่แตกต่างหลากหลายภายใต้หัวข้อเหล่านี้ผ่านทางฟีเจอร์การค้นหาของ Adobe Stock รวมถึงข้อมูลลูกค้า และแคมเปญหลัก ๆ มากมายในภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลคาดการณ์สำหรับปีนี้เป็นการวิเคราะห์กลั่นกรองสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากธุรกิจภาพสต็อก สัญญาณจากลูกค้า และผลการศึกษา เพื่อนำเสนอเทรนด์สำคัญที่สุดในส่วนที่เกี่ยวกับภาพถ่าย ภาพประกอบ กราฟิกเวคเตอร์ เทมเพลตงานออกแบบ โมชั่นกราฟิก ประสบการณ์แบบ Immersive และ 3D
และนี่คือข้อมูลคาดการณ์เกี่ยวกับเทรนด์ด้านครีเอทีฟประจำปี 2565 จาก Adobe Stock
วิชวลเทรนด์ (Visual Trends)
Powerfully Playful
เราพบว่ามีแบรนด์ต่าง ๆ และแคมเปญเชิงพาณิชย์มากมายที่นำเสนอหัวข้อการมองโลกในแง่ดีและความสนุกสนาน ผลงานในสไตล์ Powerfully Playful มักจะใช้สีที่สว่างสดใส มีเรื่องราวของเกมและการเต้นรำ มีองค์ประกอบภาพเคลื่อนไหว และให้ความรู้สึกถึงการหวนรำลึกถึงอดีต เทรนด์นี้จะมุ่งเน้นการสร้างเสียงหัวเราะ ความกระตือรือร้น และความหวัง โดยแกนหลักของเทรนด์นี้ที่อยู่ภายใต้ความร่าเริงสดใสก็คือ ความแข็งแกร่ง หรือความมุ่งมั่นที่จะยิ้มสู้ท่ามกลางความท้าทายและความยากลำบาก
The Centered Self
การแพร่ระบาดยังคงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกที่ทั่วโลก และข้อจำกัดต่อการใช้ชีวิตก็เป็นต้นเหตุของความเครียด โดยทุกวันนี้เราทุกคนกำลังต่อสู้กับภาวะเหนื่อยล้า หมดกำลังใจ และรู้สึกสงสัยในตัวเองไม่มากก็น้อย ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยความท้าทายนี้ ผู้คนเริ่มหันไปให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิต ตัวอย่างเช่น นักกีฬาชื่อดังระดับโลกอย่าง เนโอมิ โอซากะ และซิโมน ไบลส์ ปกป้องตัวเองด้วยการถอนตัวจากการแข่งขันกีฬาในรายการสำคัญ และคนทั่วไปให้การยอมรับมากขึ้นในประเด็นเรื่องสิทธิ์ของแต่ละคนในการปกป้องดูแลจิตใจของตนเองภายใต้กรอบการทำหน้าที่ตามภาระความรับผิดชอบของบุคคล
Prioritize Our Planet
ความกังวลใจของประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในปี 2564 เราประสบกับภัยธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่น้ำท่วมไปจนถึงไฟป่า ซึ่งส่งผลให้มีการรายงานข่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิชวลเทรนด์ที่เราเรียกว่า Prioritize Our Planet นี้เป็นมากกว่าเพียงแค่การต่อยอดจากกระแสการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน กล่าวคือ เป็นการสื่อถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของคนทั่วไปในการฟื้นฟูธรรมชาติและการหยุดทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้และใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น แบรนด์สำคัญ ๆ ก็พยายามเน้นย้ำถึงแนวทางธุรกิจของตนเองที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
In the Groove
แคมเปญกระแสหลักอัดแน่นไปด้วยความเคลื่อนไหวแบบไดนามิก แม้กระทั่งในงานโฆษณาที่ใช้ภาพนิ่ง ก็มีการถ่ายทอดภาพความพลิ้วไหวของเสื้อผ้าและเส้นผม หรือเส้นสายที่งามสง่าของเรือนร่างที่กำลังเต้นระบำ ความเคลื่อนไหวที่เป็นหัวข้อหลักในแคมเปญโฆษณาของแบรนด์ต่าง ๆ นอกจากจะสวยงามและสร้างแรงบันดาลใจแล้ว ยังช่วยให้เราได้รู้สึกได้ถึงรูปลักษณ์ทางกายภาพโดยไม่จำเป็นต้องใช้การสัมผัสโดยตรง แม้ว่าเราอาจอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ทำงานจากที่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคมจากคนอื่น ๆ แต่ภาพเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ใกล้ชิดกันในแง่ของจิตใจ
เทรนด์การออกแบบ (Design Trends)
Soft Pop
Soft Pop เป็นเทรนด์ที่เน้นความสนุก มีการใช้รูปทรงที่ยืดหยุ่น และโดยมากแล้วมักจะใช้ภาพการ์ตูน 3 มิติ มีการบรรยายเล่าเรื่องโดยใช้ตัวละคร และมีลักษณะของความอ่อนโยน Soft Pop เป็นงานดีไซน์ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเทรนด์ Powerfully Playful ในงานวิชวลเทรนด์ โดยสื่อถึงการมองโลกในแง่ดีอย่างร่าเริง และใช้สีหวานๆ องค์ประกอบที่พบเห็นได้ทั่วไปสำหรับเทรนด์นี้ก็คือ ภาพอีโมจิ การ์ตูน และสัญลักษณ์ที่มีบุคลิกลักษณะ รวมไปถึงรูปทรงและรูปร่างที่อ่อนโยน โค้งมน หรือมีลักษณะเกินจริง แบบอักษรมีบทบาทสำคัญในเทรนด์นี้เช่นกัน โดยมักจะมีการใช้ตัวอักษรแบบมีมิติ มีลักษณะพองลม หรือแบบอักษรอื่น ๆ ที่ดูโดดเด่นในงานโฆษณา การออกแบบชุดข้อความ โลโก้ และตัวอักษร
New Naturalism
เทรนด์ความงามในแบบ New Naturalism เน้นความเรียบง่าย สะอาดตา ตามแนวคิด Modernism โดยงานวิชวลเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะในสไตล์ Process Art และ Post-minimalism รวมถึงการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีและถูกสุขอนามัย โดยมากแล้วมักจะปรากฏให้เห็นในงานดีไซน์ร่วมสมัยที่ดูสดใหม่ มีการขับเน้นองค์ประกอบของภาพให้ดูโดดเด่น และเราพบเห็นเทรนด์ New Naturalism ในหลากหลายแวดวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟชั่น ความงาม และการออกแบบภายใน มีการใช้สีดำ สีขาว และสีเอิร์ธโทนผสมผสานกัน เช่น สีเขียวขี้ม้า ทำให้เทรนด์นี้สื่อถึงการหวนคืนสู่ธรรมชาติและผืนดิน
Heritage Craft
เทรนด์ Heritage Craft เชิดชูงานฝีมือด้วยภาพประกอบและงานดีไซน์แบบแฮนด์เมด เติมแต่งด้วยรายละเอียดที่สดใสตามสไตล์ Maximalism โดยมีการใช้ศิลปะพื้นบ้าน ลวดลาย ภาพประกอบ และงานดีไซน์จากทั่วทุกมุมโลก เทรนด์นี้นำเสนอองค์ประกอบด้านงานศิลป์และงานดีไซน์ในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค ผสมผสานกับรูปทรงตามธรรมชาติและรูปทรงเรขาคณิตหลากสีที่วาดด้วยมือ ดูยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ นอกเหนือจากรูปทรงเรขาคณิตแล้ว เรายังพบเห็นการใช้ภาพบุคคลและธีมธรรมชาติ รวมไปถึงลวดลายตกแต่งและตัวอักษรที่วาดด้วยมือ เทรนด์นี้พบเห็นได้อย่างชัดเจนเป็นพิเศษในงานออกแบบผ้าและลวดลาย งานออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์ ภาพประกอบ เครื่องเขียนตามฤดูกาลและงานเลย์เอาต์
Otherworldly Visions
Otherworldly Visions นำเสนอภาพจินตนาการที่ออกแนวเสียดสีเล็กน้อย ผสมผสานกับอิทธิพลและองค์ประกอบจากแนวศิลปะ Afrofuturism, Solarpunk และ Vaporwave งานออกแบบในเทรนด์นี้อาจมีการไล่ระดับสีที่ดูอ่อนโยน ภาพประกอบที่ดูเลื่อนลอย ภาพลวงตา และดีไซน์ที่แหวกแนว โดยมุ่งสำรวจความขัดแย้งในแบบเพ้อฝัน เทรนด์นี้มีความละเอียดซับซ้อนและเปี่ยมด้วยภูมิปัญญา โดยสืบทอดองค์ประกอบแบบไฮเทคจากศิลปะแบบ Cyberpunk และ Sci-fi แต่ก็มีการเปิดพื้นที่ใหม่โดยใช้การไล่ระดับสีแบบเหนือจริงที่ดูชุ่มฉ่ำ พื้นผิวและผิวสัมผัสแบบ 3 มิติ และแฟชั่นและการออกแบบฉากที่หลุดโลก ทั้งบนจอและนอกจอ
เทรนด์โมชั่น (Motion Trends)
Metaverse Mix
เมตาเวิร์ส (Metaverse) กล่าวโดยย่อก็คือ เป็นโลกเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์ ผ่านทางระบบออนไลน์ แบรนด์ต่าง ๆ ก้าวเข้าสู่โลกใหม่นี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการขยายขอบเขตครอบคลุมนอกเหนือไปจากโลกของอินเทอร์เน็ต และแทรกซึมเข้าสู่โลกทางกายภาพ ด้วยภาพต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา โดยมีการผสานรวมเอฟเฟ็กต์แบบดิจิทัล กริด และกราฟิกมากมาย เพื่อขับเน้นแคมเปญให้ดูโดดเด่น ขณะที่เมตาเวิร์สเริ่มกลายเป็นกระแสหลักและจุดหมายปลายทางของคนทั่วไป ศิลปะที่เป็นรากฐานของแนวคิดนี้ก็เริ่มมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง และมีการเชื่อมโยงระหว่างโลกดิจิทัลและโลกทางกายภาพเพิ่มมากขึ้น
Get Moving
เทรนด์โมชั่นนี้มีการพัฒนาควบคู่ไปกับเทรนด์วิชวล In the Groove โดยเกี่ยวข้องกับกระแสความนิยมแพร่หลายของการเคลื่อนไหว การเต้นรำ และจังหวะในทุกเซ็กเตอร์ที่เป็นกระแสหลัก ดังจะเห็นได้จากผลงานของแบรนด์ชื่อดังต่าง ๆ ตั้งแต่ Apple ไปจนถึง Adidas, Toyota และ Bud Light ซึ่งสื่อถึงความต้องการและความจำเป็นของทุกคนในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง
Dimensional Delights
ศิลปะแนว Hyperrealism ผสานรวมเข้ากับความอ่อนหวานและความร่าเริงสดใส และมีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเพื่อยกระดับความสนุกในแบบเหนือจริง เทรนด์โมชั่นนี้พบเห็นได้ทุกที่ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานโฆษณากลางแจ้ง ซึ่งมีการเล่นภาพวิดีโอขนาดใหญ่ ประกอบด้วยภาพลวงตาและเอฟเฟ็กต์การ์ตูนเพื่อเน้นมิติเชิงลึก ทุกวันนี้ซอฟต์แวร์ที่ใช้ขับเคลื่อนวิชวลเอฟเฟ็กต์และแอนิเมชั่นมีราคาถูกลงและมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ดังนั้นศิลปินจึงสร้างสรรค์แอนิเมชั่นในรูปแบบและสไตล์ใหม่ ๆ เราพบเห็นเทรนด์นี้อย่างมากในคอลเลกชั่นของเรา ทั้งในส่วนของภาพแบ็คกราวด์ งานเรนเดอร์ 3D และเทมเพลตโมชั่นกราฟิก
Copy and Captions
ข้อความ คำอธิบายภาพ คำบรรยายในวิดีโอ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม องค์ประกอบข้อความคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในคอนเทนต์สำหรับสื่อโซเชียลในช่วงปี 2565 เนื่องจากวิดีโอโซเชียลส่วนใหญ่ถูกบริโภคโดยไม่มีการเปิดเสียง (ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเลือกของผู้ชม หรือเพราะวิดีโอในฟีดโซเชียลถูกเล่นแบบปิดเสียงตามค่าเริ่มต้น) ดังนั้นการใส่ข้อความซ้อนทับบนวิดีโอจึงมีความจำเป็นต่อความสำเร็จของแคมเปญวิดีโอสำหรับช่องทางต่าง ๆ เช่น Instagram, TikTok และ Facebook นอกจากนี้ ความสามารถในการเข้าถึงสำหรับผู้พิการทางการได้ยินก็กลายเป็นเรื่องสำคัญเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแบรนด์ต่าง ๆ และผู้บริโภคมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับวิธีการสร้างคอนเทนต์ที่เหมาะกับคนทุกกลุ่ม ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยคำบรรยายที่ว่านี้จะต้องมีลักษณะจริงใจ ไม่เสแสร้ง ไม่มีลูกเล่นในแง่ศิลปะหรือการ “ออกแบบ” เป็นพิเศษ และสิ่งสำคัญคือ ต้องมุ่งที่จะสื่อสารอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา และเข้าใจได้ในทันที