เรามักจะเจอ ชุดสี Color Palette ที่แจกให้ดาวน์โหลดตามเพจหรือเว็บสอนออกแบบชื่อดัง(รวมทั้งเว็บไซต์เรา) ที่ชุดสีถูกดูดออกมาจากฉากในภาพยนตร์ หรือ ในรูปภาพต่างๆ แม้กระทั่งจากเทรนด์สีประจำปีก็มี
ซึ่งชุดสี Color Palette เหล่านั้นมีความสวยงามและมีการคุมโทนสีอย่างดีเยี่ยม แต่ถ้าพูดถึงการนำไปใช้กับงานออกแบบจริงๆแล้ว จะมีกี่ชุดสีที่สามารถใช้ในงานออกแบบได้บ้าง ถึงสีจะสวยเพียงใดแต่ถ้าหากไม่สามารถนำมาใช้ในการทำงานได้จริง ชุดสีนั้นจะไร้ประโยชน์
วันนี้เราเลยจะมาแนะนำวิธีการสร้างชุดสี Color Palette ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ไม่ต้องหาชุดสีที่แจกฟรีมามโนกับการทำงานของเราให้เสียเวลา
4 ขั้นตอนสร้าง ชุดสี Color Palette แบบมือโปร
ขั้นตอนที่ 1 เลือกสีหลัก Primary Color
แบรนด์หรือธุรกิจของเราล้วนมีสีหลักหรือ Primary Color อยู่แล้ว สีนี้คือสีตั้งต้นที่จะมาใช้ในการทำการสร้าง Color Palette ได้อย่างดีเยี่ยม โดยสีที่เลือกมาเป็นตัวอย่างก็คือสีแดงของ Grappik โดยเราจะใช้สี #E73135 เป็น Primary Color
แต่ถ้าใครยังไม่มีแบรนด์และยังเลือกสีไม่ได้เรามีวิธีการเลือกสีให้แบรนด์แบบง่ายๆคือใช้หลัก จิตวิทยาสี Color อ่านที่บทความด้านล่างก่อนได้เลย
ขั้นตอนที่ 2 เลือกรอง Secondary Color
สีรองต้องหามาจากสีหลัก แต่การหาสีรองห้ามหามั่วๆต้องหามาจากการอ้างอิงทฤษฎีสี เช่น Monochromatic คุมโทนสีเดียว, Complementary สีคู่ตรงข้าม, Analogous สีถัดไปจากสีที่เราเลือก อ่านข้อมูลทฤษฎีสีทั้งหมดได้ที่บทความด้านล่าง
โดยเครื่องมือที่จะใช้ในการหาสีรองก็คือ Adobe Color หากใครยังไม่เคยใช้เครื่องมือนี้ สามารถเข้าไปอ่านบทความแนะนำการใช้เครื่องมือสร้างชุดสีแบบง่ายๆได้เลย
โดยสีรองที่เลือกมาจะอยู่ในโหมดสี Analogous และ Shades ด้วยเหตุผลที่ว่าเราอยากจะคุมธีมของสีให้อยู่ในโทนใกล้เคียงกัน จึงเลือกใช้ทั้ง 2 โหมดที่กล่าวมา
โดยสีที่หยิบออกมาเพิ่มจะมี 2 สีคือสีส้มอ่อนและแดงเข้ม ตอนนี้เราก็จะได้สีหลัก Primary และสีรอง Secondary เรียบร้อย สังเกตว่าธีมสีของงานออกแบบกำลังจะชัดเจนมากขึ้น แต่งานออกแบบจะมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างซึ่งเราจะต้องหาสีที่เหลือมาให้ครบเพื่อสร้าง Color Palette ที่สมบูรณ์
ขั้นตอนที่ 3 หาสีของพื้นหลัง Background Color
สีหลัก Primary Color บางสีเหมาะจะเป็นสีพื้นหลัง แต่บางสีก็ไม่เหมาะ ถ้าหากคิดว่าสีหลักของเราไม่สามารถนำมาใช้ได้ให้เราหาสีพื้นหลังใหม่ โดยสี Basic ที่สุดก็คือสีขาวและดำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสีขาวและดำจะใช้ได้กับทุกงาน
ต้องสังเกตตัวสีหลักและสีรองก่อนด้วย เช่น ถ้าสีหลักออกโทนสว่างคุณใช้พื้นหลังโทนมืดดำได้ แต่ถ้าสีหลักอยู่ใทนเข้มหรือโทนหม่นก็ควรใช้พื้นหลังสีขาว ที่ต้องทำแบบนี้เพื่อให้สีหลักนั้นเด่นชัดให้ได้มากที่สุด
ตัวอย่าง ใช้สีหลักของ Grappik แล้วลองวางบนพื้นหลังสีขาวและดำสังเกตว่าพื้นหลังขาวสีของแบรนด์จะโดดเด่นมากกว่า และทำให้คนที่มองงานออกแบบของแบรนด์บ่อยๆจะจดจำอัตลักษณ์ได้ดี
เราจึงสรุปได้ว่าสีขาวหรือสีโทนสว่างจะถูกนำมาใช่เป็นสีพื้นหลังใน Color Palette
ขั้นตอนที่ 4 หาสีของฟอนต์หรือตัวหนังสือ Font Color
ฟอนต์คือสิ่งสำคัญอันดับต้นๆของงานออกแบบเราควรให้ความสำคัญกับการหาสีมาใช้กับฟอนต์ วิธีการหาสีของฟอนต์จะใช้ทฤษฎีสีคู่ต้องข้าม สีตรงข้ามที่เลือกมาก็จะต้องเป็นสีตรงข้ามกับพื้นหลังหรือสีหลัก
สีที่ได้จาก Color Adobe ก็คือสีเขียวแต่เราคิดว่าถ้าใช้น่าจะหลุดธีมไปพอสมควร สิ่งที่ได้มาไม่ตรงความต้องการแต่เราก็พอรู้ว่าถ้าอยากจะหาสีคู่ต้องข้ามหรือสีที่ตัดกับสีหลักของเราก็จะเป็นสีในโทนสว่าง เราเลยเลือกสีขาว 1 สีมาใช้สำหรับเขียนข้อความลงบนพื้นหลังที่ใช้สีหลัก และได้สีเทาดำอีก 1 สีมาใช้กับพื้นหลังที่เป็นสีขาว
เท่านี้ก็เรียบร้อยแล้วสำหรับชุดสี Color Palette ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงแน่นอน เพราะทุกอย่างผ่านการคิดอย่างเป็นกระบวนการมาเรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่าง Color Palatte ที่นำไปใช้จริงกับเพจ Grappik
สำหรับใครที่อยากหาเครื่องมือช่วยสร้าง Colot Palette เรามีเว็บสร้างชุดสีแบบง่ายๆที่อยากแนะนำให้ไปฝึกมือกัน
1. https://coolors.co/
2. https://color.adobe.com/
3. https://picular.co/
4. https://paletton.com/
สุดท้ายสำหรับใครที่อยากฝึกทักษะการออกแบบและแนวคิดลองเข้าไปอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่หมวดหมู่ Graphic Design บนเว็บไซต์ของเราได้เลย https://grappik.com/category/graphic-design