Sitemap คือ

Sitemap คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญต่อเว็บไซต์และ SEO

Update

Sitemap คืออะไร? คำถามนี้มักจะผุดขึ้นมาเมื่อองค์กรของคุณกำลังจะต้องทำเว็บไซต์ใหม่หรือปรับปรุงเว็บไซต์เดิม การทำ Sitemap ไม่ใช่แค่การเอาหน้าต่างๆมาใส่เอาไว้แล้วจะกลายเป็น Sitemap ที่ดีเพราะการมีจำนวนหน้าหรือข้อมูลมากเกินไปอาจจะทำให้ผู้ใช้งานหาข้อมูลไม่เจอก็เป็นได้

คุณเคยเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาแล้วต้องปวดหัวกับการนั่งดู Sitemap ของเว็บไซต์ที่ยุ่งเหยิงหรือไม่? ถ้าใช่!! สิ่งที่คุณจะต้องพบเจอต่อไปคือการกดคลิกไปทุกเมนูเพื่อเดาใจว่าข้อมูลที่คุณกำลังหาบนเว็บไซต์นี้ไปซ่อนอยู่ตรงไหนกันแน่ ปัญหาที่พบเจอแบบนี้เกิดจากการที่ไม่ได้มีการสร้าง Sitemap ที่เหมาะสมกับสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจริง ๆ มีข้อมูลอะไรใส่ไปให้เยอะที่สุดเพื่อให้เว็บไซต์ดูน่าเชือถือแต่นั่นก็อาจจะกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้ผู้ใช้เว็บไซต์นั้นปิดหน้าเว็บออกไปเลยก็เป็นได้

การสร้าง Sitemap ที่ดีและเหมาะสมกับเว็บไซต์ เป็นสิ่งที่ควรทำไม่ว่าเว็บไซต์ของคุณจะขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือ ขนาดใหญ่ เพราะทุกเว็บไซต์ล้วนมีจุดประสงค์และผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน การมีข้อมูลที่มหาศาลบนเว็บไซต์ไม่ใช่เรื่องดี เพราะนั่นอาจจะทำให้ผู้ใช้งานหาข้อมูลที่สำคัญไม่เจอ หรือ อาจจะเจอแต่กลับต้องใช้เวลาที่มากกว่าเดิม วันนี้เราจะอธิบายว่า Sitemap คืออะไร? รวมถึงจะมาแชร์เทคนิคการสร้าง Sitemap เว็บไซต์อย่างมืออาชีพข้อมูลหาง่ายผู้ใช้หลงรัก จาก Case Study จริงที่เราได้ทำเว็บไซต์ให้กับหลากหลายองค์กรชั้นนำของประเทศ

Sitemap คืออะไร

สำหรับใครที่ยังไม่เคยทำ Sitemap มาก่อนเลย เราจะมาปูพื้นให้ทุกคนเข้าใจกันก่อน Sitemap เว็บไซต์เปรียบเสมือนแผนที่หรือแผนผังที่รวบรวมรายการทุกหน้าของเว็บไซต์เอาไว้ในกลุ่มก้อนเดียวกัน คล้ายกับหน้าสารบัญของหนังสือเล่มใหญ่ที่ช่วยให้ Search Engine Bot และผู้ใช้งานเว็บไซต์เข้าใจโครงสร้างของเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น Sitemap เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เว็บไซต์เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน เมื่อผู้ใช้งานต้องการหาข้อมูลอะไรก็จะเจอได้อย่างรวดเร็วและยังทำให้ Search Engine Bot เก็บข้อมูลไปแสดงผลบน Search Results ได้อีกด้วย

ความสำคัญของการทำ Sitemap

การทำ Sitemap ให้ข้อมูลหาง่ายและเป็นที่รักของผู้ใช้งาน ยังมำให้ SEO ของเรามีอันดับที่ดีขึ้นอีกด้วย เพราะ Sitemap ที่ดีเป็นระเบียบจะทำให้ Search Engine Bot ของ Google สามารถสำรวจหน้าและข้อมูลต่าง ๆบนเว็บไซต์เราได้ง่ายขึ้นไวขึ้น จึงทำให้อันดับบน Search Results ของเว็บไซต์เรามีโอกาสติดในหน้าที่ 1 ของ Google หรือ แม้กระทั่ง Search Engine เจ้าอื่น ๆ อย่าง Bing หรือ Yahoo

Sitemap จะควรอยู่ตรงไหนของเว็บไซต์

โดยปกติ Sitemap จะถูกสร้างขึ้นมาก่อนการออกแบบ User Interface อยู่แล้ว แต่เวลาที่จะต้องนำมาใส่ในช่วงการออกแบบ โดยส่วนมาก Sitemap จะอยู่ทั้งหมด 2 ที่ด้วยกันคือ

1. บน Navigation ด้านบนสุดของเว็บไซต์

ตัวอย่างเว็บไซต์ Thai Innovation Energy จำนวนเมนูบน Sitemap มี 5 เมนูสามารถจัดวางเรียงแบบทั่วไปได้เลย เพื่อให้ผู้ใช้ต้องการดูข้อมูลอะไรก็สามารถกดดูได้ทันที

Sitemap ของเว็บไซต์ Thai Innovation Energy

2. บน Footer ด้านล่างสุดของเว็บไซต์

หรือในกรณีที่จำนวนเมนูบน Sitemap มีจำนวนเยอะ การมาใส่เอาไว้ที่ Footer ด้วยอีก 1 จุดจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกเมนูที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างของเว็บไซต์ TMT Steel ที่นำเมนูหลักของเว็บไซต์มาวางไว้บน Footer

Sitemap ของเว็บไซต์ TMT Steel

ข้อดีของการทำ Sitemap

ข้อดีของการทำ Sitemap นอกจาก 2 เรื่องที่กล่าวไปคือ ผู้ใช้งานหลงรักข้อมูลหาง่าย และ เป็นมิตรกับ SEO เพิ่มโอกาสติดในหน้า 1 ของ Search Results เจ้าดัง ยังมีอีกหลากหลายข้อดีคือ

1. ช่วยให้ Update Content ได้สะดวก

หลังจากเว็บไซต์ออนไลน์ไปแล้ว การจะเข้ามา Update Content บนเว็บไซต์เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเพราะทาง Google จะมองว่าเว็บไซต์ที่ไม่มีการอัพเดตข้อมูลเลยคือเว็บไซต์ที่ตายแล้วจึงทำให้อันดับบน Search Results ตกลงได้ ถ้าเราวาง Sitemap ตั้งแต่แรกว่าเมนูที่มีการอัพเดตข่าวสารคือเมนูไหนหรือหน้าไหนเมื่อมีการอัพเดต Content ทาง Search Engine Bot ก็จะวิ่งตรงเข้ามาเก็บข้อมูลได้ทันที รวมถึงคนที่คอย Update Content ก็จะสะดวกเวลาตรวจเนื้อหาว่าสิ่งที่ลงไปบนเว็บไซต์แสดงผลเนื้อหาได้ถูกต้องหรือไม่

2. สามารถนำไปต่อยอดการทำ Market Analysis ได้

การสร้าง Sitemap ที่ดีจะช่วยให้สามารถช่วิเคราะห์การตลาดได้ดียิ่งขึ้น เพราะคุณจะรู้ได้ว่าเว็บไซต์เมนูไหนหรือหน้าไหนได้รับความนิยมมากที่สุดและนำมาจัดเรียงลำดับเนื้อหาใหม่ตามความสำคัญของจุดประสงค์ทางการตลาดได้

3. ช่วยตรวจสอบข้อปัญหาของเว็บไซต์

เว็บไซต์มีผู้ใช้งานหลากหลายคน และเว็บไซต์เองก็มีจำนวนหน้าหลากหลายหน้า ถ้าเราทำ Sitemap ให้ข้อมูลเข้าถึงง่ายเป็นระเบียบตั้งแต่แรก เวลาเว็บไซต์เกิดปัญหาจะสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าหน้าที่เกิดปัญหาคือหน้าไหนและอยู่ในเมนูไหน

Sitemap เว็บไซต์มีกี่ประเภท

Sitemap สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ตามการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปและทั้ง 2 ประเภทจำเป็นจะต้องทำเพื่อให้ Sitemap มีระบบและระเบียบ

1. XML Sitemap

XML Sitemap คือ Sitemap ที่จะถูกสร้างขึ้นหลังจากเว็บไซต์ขึ้นออนไลน์แล้วเท่านั้น คอยทำหน้าที่เป็นสารบัญรวมรายการของ URL หรือลิงก์ทั้งหมดภายในเว็บไซต์เพื่อให้ Search Engine Bot เข้ามาสำรวจเข้าใจโครงสร้างของเว็บไซต์และเก็บข้อมูลนำไปประมวลผลเพื่อโอกาสในการทำ SEO และการติดอันดับใน Search Results

ถ้าหากต้องการให้ Search Engine Bot ของ Google เข้ามาสำรวจเราสามารถไป Submit XML Sitemap ของเว็บไซต์ได้ที่ Google Search Console

ตัวอย่าง XML Sitemap ของเว็บไซต์ Grappik ที่ถูกสร้างด้วย Rankmath Plugin

ตัวอย่าง XML Sitemap ของเว็บไซต์ Grappik

2. HTML Sitemap

HTML Sitemap คือ Site,ap ที่ใช้ในการนำทางและความสะดวกสำหรับผู้ใช้งาน คอยทำหน้าที่เป็นสารบัญคล้ายๆกับ XML Sitemap เหมือนกัน แต่จะเน้นไปที่การใช้งานให้ผู้ใช้สามารถกดคลิกไปยังเมนูหรือหน้าต่าง ๆ ได้จาก User Interface

ตัวอย่าง HTML Sitemap ของเว็บไซต์ TMT Steel ที่เราออกแบบให้เมนูสามารถแสดงผลได้ทั้งหมด 3 ลำดับขั้นเพื่อให้ผู้ใช้งานหาข้อมูลได้รวดเร็วที่สุด

ตัวอย่าง HTML Sitemap ของเว็บไซต์ TMT Steel

การทำ Sitemap ทั้ง 2 ประเภทนี้จะช่วยให้เว็บไซต์ของคุณมีประสิทธิภาพทั้งในแง่การทำ SEO และเพิ่มประสิทธิภาพในการนำทางไปยังข้อมูลที่ถูกต้องงให้กับผู้ใช้งานอย่างเหมาะสม

เริ่มทำ Sitemap ตอนไหนดีที่สุด

การทำ Sitemap เว็บไซต์เป็นขั้นตอนที่สำคัญลำดับต้นๆของการทำเว็บไซต์ เพราะ Sitemap สารบัญของเว็บไซต์เป็นส่วนสำคัญในการนำทางผู้ใช้งานให้ไปยังข้อมูลที่ต้องการและยังช่วยเรื่องของประสิทธิภาพ SEO อีกด้วย คำถามว่าเริ่มทำตอนไหนที่สุดจะขอแบ่งออกเป็นข้อๆดังนี้

1. ตอนสร้างเว็บไซต์ใหม่

เริ่มจาก 0 ง่ายที่สุด เมื่อต้องการสร้างเว็บไซต์ใหม่ การทำ Sitemap เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ เพราะนอกจาก Sitemap จะเป็นตัวกำหนดสารบัญของเว็บไซต์ของเว็บไซต์ยังจะช่วยบอกให้เรารู้ล่วงหน้าได้ด้วยว่าเมนูหรือหน้าต่าง ๆ ควรจะเตรียมข้อมูลอะไรเอาไว้บ้าง เพราะเวลาถึงขั้นตอนการออกแบบ User Interface จะสามารถนำข้อมูลมาจัดวางได้ทันที

2. ตอนมีจำนวนเมนูหรือจำนวนหน้าเพิ่มขึ้น

เมื่อเว็บไซต์มีการเพิ่มเนื้อหาใหม่ เมนูใหม่ หรือหน้าใหม่ลงในเว็บไซต์ ควรทำ Sitemap ทั้ง HTML Sitemap และ XML Sitemap เพื่อให้ Search Engine Bot สามารถเข้ามา Update Content ใหม่ๆ ได้ (ในกรณีที่มีการเพิ่มหน้าใหม่ที่ไม่ใช่ข่าวสารหรือบทความ ควรจะแจ้งให้ Search Engine Bot เข้ามา Update XML Sitemap ใหม่อีกครั้ง)

3. ตอนปรับปรุง SEO

เมื่อคุณรู้สึกว่า Sitemap เว็บไซต์ของคุณมีปัญหา หน้่าต่างๆ ไม่ติดอันดับใน Search Results และต้องการปรับปรุง การทำปรับปรุง Sitemap เป็นส่วนสำคัญในการทำให้ SEO มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

เว็บไซต์แบบไหนที่ต้องทำ Sitemap

Sitemap เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเว็บไซต์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ข่าว, เว็บไซต์ Ecommerce, เว็บไซต์บล็อก, เว็บไซต์บริษัท หรือแม้แต่เว็บไซต์ส่วนตัว การสร้าง Sitemap จะเป็นสารบัญที่คอยบอกว่าข้อมูลที่จะมีบนเว็บไซต์ของคุณจะมีอะไรบ้าง แต่ถ้าถามว่าเว็บไซต์ที่ต้องทำ Sitemap แบบจริงจังเลี่ยงไม่ได้จะขอแยกออกเป็น 3 เว็บไซต์ดังนี้

เว็บไซต์ขนาดใหญ่

ยิ่งเว็บไซต์มีขนาดใหญ่การทำ Sitemap จึงจำเป็นอย่างมาก เพราะเราจะต้องจัดเตรียมข้อมูลเอาไว้สำหรับการใช้บนเมนูและหน้าต่าง ๆ ยิ่งมีจำนวนข้อมูลยิ่งเยอะการทำ Sitemap เป็นอันดับแรกจะทำให้การจัดลำดับความสำคัญและหมวดหมู่ของข้อมูลได้อย่างลงตัว ผู้ใช้งานเว็บไซต์เวลาต้องการหาข้อมูลจะเจอได้อย่างรวดเร็ว รวมถึง Search Engine Bot จะสามารถนำข้อมูลกลับไปจัดอันดับบน SEO ได้อย่างสะดวก

เว็บไซต์ที่อยากติดอันดับบน Google

อยากติดอันดับบนหน้าแรกของ Google การทำ Sitemap คือสิ่งสำคัญมาก ทั้ง XML และ HTML ทั้ง 2 Sitemap ทำงานร่วมกันอย่างแยกไม่ได้ XML คอยนำข้อมูลส่งไปยัง Google ส่วน HTML ก็จะคอยพาผู้ใช้งานไปเจอข้อมูลที่ต้องการ ผู้ใช้เปิดเว็บไซต์หลายหน้า หาข้อมูลเจอ และอยู่เว็บไซต์เป็นเวลานาน Search Engine Bot จะมองว่าเว็บไซต์มีคุณภาพและจะทำให้การทำ SEO นั่นง่ายขึ้นกว่าเดิม

เครื่องมือการทำ Sitemap

เครื่องมือการทำ Visual Sitemap

เครื่องการทำ Visual Sitemap หรือถ้าอธิบายง่าย ๆ ก็คือ Sitemap ที่เป็นภาพก่อนนำไปให้ทีมออกแบบ ทีมพัฒนา ทีมการตลาดได้เข้าใจถึงสารบัญโครงสร้างทั้งหมดของเว็บไซต์ เครื่องมือที่สามารถนำไปใช้ได้มีดังนี้

1. Miro
2. FigJam by Figma
3. draw.io
4. Slickplan

ตัวอย่างของ Visual Sitemap

Visual Sitemap ถูกสร้างด้วย FigJam

เครื่องมือการทำ XML Sitemap

ถ้าหากต้องการสร้าง XML Sitemap แต่ไม่รู้วิธีการสร้าง สามารถทำได้ไม่ยากและมีหลากหลายวิธีในการสร้าง วิธีและเครื่องมือที่แนะนำมีดังนี้

ถ้าหากคุณใช้ WordPress ในการทำเว็บไซต์

จะสามารถใช้ Plugin ในการทำ SEO อย่าง Yoast SEO หรือ Rankmath ได้ทันทีที่เว็บไซต์ขึ้นออนไลน์ ซึ่งวิธีการสร้าง XML Sitemap ทั้ง 2 Plugin ก็มีความต่างกัน ทางเราจึงทำการแนบวีดีโอประกอบสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปทำในทันที

ถ้าหากเว็บไซต์ของคุณไม่ได้ใช้ WordPress

ให้คุณเข้าไปยังเว็บไซต์ www.xml-sitemaps.com ทำการกรอกชื่อเว็บไซต์ของเราและกด Start ได้ทันที ตัวเว็บจะดึงข้อมูลเมนูและหน้าทั้งหมดบนเว็บไซต์ของเราไปทำ XML Sitemap เมื่อเสร็จแล้วให้ทำการดาวน์โหลด Sitemap ลงมาและนำไปติดตั้งบนเว็บไซต์ของเราก็เสร็จเรียบร้อย

XML Sitemap Generator

เทคนิคการสร้าง Sitemap เว็บไซต์อย่างมืออาชีพ

การสร้าง Sitemap ให้ข้อมูลหาง่ายและผู้ใช้งานและ Search Engine Bot หลงรักเว็บไซต์ของคุณ มีวิธีการง่าย ๆ โดยคุณไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักออกแบบเว็บไซต์หรือ UX Designer ก็สามารถสร้าง Sitemap เว็บไซต์อย่างมืออาชีพได้เหมือนกัน

ชื่อเมนูต้องไม่ซับซ้อนหรือมีหลายความหมาย

ก่อนจะนำเมนูต่าง ๆ ไปจัดเรียงจนกลายเป็น Sitemap ต้องเริ่มจากการตั้งชื่อของเมนูและชื่อหน้าของเว็บไซต์ก่อน การตั้งชื่อควรจะใช้คำที่ง่าย ๆ และความหมายชัดเจน เช่น ถ้าเราต้องการบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของบริษัทก็อาจจะใช้คำว่า เกี่ยวกับเรา หรือ เกี่ยวกับบริษัท เป็นชื่อเมนูหลักและชื่อหน้าย่อย ๆ ในเมนูอาจจะใช้คำว่า ประวัติของเรา

การจัดเรียงลำดับที่เหมาะสม

การจัดเรียงลำดับของเมนูและหน้าเว็บไซต์โดยให้มีความสัมพันธ์ที่เหมาะสม ควรจะเริ่มต้นด้วยหน้าหลักและหน้าย่อยเรียงกันลงมา เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถนำทางไปยังส่วนต่างๆ ของเว็บไซต์ได้อย่างสะดวก หรือ เรียงลำดับจากข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการก่อน เช่น หากองค์กรของคุณให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ เมนูบริการของเรา หรือ ราคาค่าบริการควรจะอยู่ในอันดับต้นๆ ต่อจากเมนูหน้าหลัก

การจัดกลุ่มของเนื้อหาและระบบที่คล้ายกัน

ระบบพื้นฐานที่เกือบทุกเว็บไซต์องค์กรมีคือการ Update ข่าวสารและบทความและแต่ในระบบนั้นก็จะมีหมวดหมู่ที่ใช้ระบบเดียวกับแต่เนื้อหาแตกต่างกัน การจัดกลุ่มของเนื้อหาให้หมวดหมู่ต่าง ๆ อยู่ใกล้ๆกันจะทำให้ผู้ใช้เจอข้อมูลได้รวดเร็วมากขึ้น ตัวอย่าง หากคุณมีเมนูข่าวสารในเมนูหลักเมนูย่อยลงไปก็ควรจะมีข่าวองค์กร ข่าว CSR หรือ ข่าวกิจกรรม เป็นต้น

การตัดเมนูหรือหน้าที่ไม่สำคัญทิ้ง

ถ้าจำนวนเมนูและจำนวนหน้าของเว็บไซต์มีมากเกินความจำเป็น ผู้สร้างเว็บไซต์ก็ไม่จำเป็นจะต้องใส่ทั้งหมดลงไปใน Sitemap แต่เลือกใส่เฉพาะสิ่งที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น เพราะในการใช้งานจริงไม่มีผู้ใช้งานเปิดดูข้อมูลบนเว็บไซต์จนครบทุกหน้า การตัดทิ้งจึงเป็นอีกเทคนิคที่ทำให้ Sitemap ของคุณดูเป็นระเบียบและหาข้อมูลได้ง่ายดาย

ด้วยเทคนิคทั้งหมดที่นำมาบอกให้ทุกคนได้อ่านนั้นจะช่วยให้การปรับปรุง Sitemap สามารถเข้าถึงและนำทางเว็บไซต์ของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่รักของผู้ใช้งานได้อย่างแน่นอน

สรุป

การสร้าง Sitemap เว็บไซต์ให้มีระบบระเบียบอย่างมืออาชีพมีข้อดีมากมาย เช่นช่วยให้ Search Engine Bot เข้าใจโครงสร้างของเว็บไซต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยในการปรับปรุง SEO ของเว็บไซต์ เพิ่มโอกาสในการ Update Content ใหม่ และเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานของผู้ใช้งานเว็บไซต์