การ ทำเว็บไซต์บริษัท หรือองค์กรแทบจะเป็น 1 ใน Mission สำคัญสำหรับธุรกิจในยุคปัจจุบันไปแล้ว อย่างที่เคยบอกเสมอว่า เว็บไซต์คือบ้านหลังแรกบนโลกอินเทอร์เน็ต แต่การสร้างเว็บไซต์จะต้องใช้งบประมาณพอสมควรถึงจะได้บ้านที่มีคุณภาพและจะอยู่เป็นหน้าเป็นตาให้กับธุรกิจไปอีกยาวนาน
แต่งบประมาณเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมสำหรับการ ทำเว็บไซต์บริษัท ซึ่งเราจะขอยกตัวเองเรทราคาจาก Digital Agency และ Web Agency ที่คล้ายคลึงกับ Grappik รวมถึงเว็บไซต์ที่จะเป็นตัวอย่างในการวางงบประมาณจะเป็นเว็บไซต์บริษัทขนาดกลางถึงใหญ่
โดยปัจจัยที่จะส่งผลกับงบประมาณการทำเว็บไซต์จะมีทั้งหมด 6 ข้อด้วยกัน
1. จำนวนหน้า
2. ระบบบนเว็บไซต์
3. รูปแบบดีไซน์
4. เซิร์ฟเวอร์ และ โดเมน
5. การดูแลเว็บไซต์
6. การเพิ่มประสิทธิภาพ
เริ่มคํานวณงบประมาณ ทำเว็บไซต์บริษัท
ปัจจัยที่ 1 จำนวนหน้า
เว็บไซต์บริษัทส่วนใหญ่มักจะมี Pattern ของการวางโครงสร้างหน้าต่างๆเอาไว้อยู่แล้ว เช่น หน้าแรก, เกี่ยวกับเรา, ข่าวสาร, บทความ, ติดต่อเรา ถ้าเป็นเว็บไซต์บริษัทระดับมหาชนก็จะมีจำนวนหน้าเพิ่มมาอีกเช่น นักลงทุน, ร่วมงานกับเรา และอีกมากมาย ดูตัวอย่างเว็บไซต์ที่เราทำการออกแบบและพัฒนา
โดยจำนวนหน้าที่เพิ่มมาต่อให้เป็นแค่ข้อมูลพื้นฐานไม่มีการใส่ระบบอะไรซับซ้อนก็จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 4,000 – 8,000 บาท/หน้า โดยราคาจะสูงหรือต่ำอยู่ที่จำนวนข้อมูลและรูปแบบดีไซน์ที่ได้จัดทำมา เพราะทุกหน้าที่ทำการดีไซน์จะต้องนำไปทำ Frontend Development (HTML & CSS) ให้สามารถแสดงผลได้ในทุกอุปกรณ์ (Responsive Website)
หากต้องการทำให้งบประมาณในแต่ละหน้าไม่สูงเราอยากจะแนะนำ Trick ในการออกแบบ โดยใช้ Pattern UI วางให้ทุกหน้ามีความคล้ายกัน โดยจะเปลี่ยนแค่เฉพาะเนื้อหาเท่านั้น
ปัจจัยที่ 2 ระบบบนเว็บไซต์
เมื่อเราทำเว็บไซต์บริษัทให้มีหน้าสำหรับนำเสนอข้อมูลแล้ว ต่อไปก็อาจจะต้องมามองดูที่เรื่องระบบของเว็บไซต์ โดยระบบพื้นฐานที่เว็บไซต์บริษัทจะมีคือ ระบบอัปเดตข่าวสาร บทความ, ระบบแบบฟอร์มการติดต่อ ถ้าพูดเป็นศัพท์ทางการพัฒนาก็คือระบบ CMS (custom management system)
โดยระบบ CMS ก็มีให้ใช้หลายตัวตั้งแต่ WordPress, Magento, Joomla หรือจะใช้ PHP , Lavavel เขียนหลังบ้านขึ้นมาเองก็ย่อมได้ โดยการสร้าง CMS ที่กล่าวมาทั้งหมดงบประมาณจะเริ่มต้นที่ 80,000 ไปจนถึงระดับ 1,000,000 ก็มี โดยราคาจะสูงหรือต่ำก็อยู่ที่จำนวนระบบที่อยากได้ทำ
แต่สำหรับเว็บไซต์บริษัทส่วนมากระบบจะไม่ซับซ้อนค่าเฉลี่ยงบประมาณจะอยู่ที่ 80,000 – 150,000 บาท โดยระบบ CMS ที่ราคาสูงนั้นเพราะมีการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบเพื่อความปลอดภัยของเว็บไซต์และปัจจัยอื่นๆด้วย
ปัจจัยที่ 3 ดีไซน์
บริษัทหรือองค์กรแต่ละแห่งย่อมมีภาพลักษณ์ไม่เหมือนกัน การจะทำเว็บไซต์บริษัทก็ควรที่จะต้องแตกต่างและมีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ถ้าสังเกตเว็บไซต์ที่เห็นกันตาม Pinterest หรือเว็บที่ขาย Template มักจะมีดีไซน์ที่เหมือนกัน
แต่การออกแบบเว็บของแต่ละบริษัทควรจะต้องหาเอกลักษณ์ทั้งในแง่ของการดีไซน์ ไปจนถึงการออกแบบ UX / UI ที่จะต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งาน อยากเข้าใจเรื่องการออกแบบ UX / UI สำหรับผู้ใช้งานเราอยากให้อ่านบทความนี้เพิ่มเติม เบื้องหลังการทำเว็บไซต์ Grappik เจาะแนวคิดการออกแบบและพัฒนาระบบ
ถ้าอยากได้เว็บไซต์ที่มีเอกลักษณ์ตามลิสั้งหมดที่เราได้กล่าวมา งบประมาณจะเริ่มต้นที่ 100,000 – 200,000 บาท (ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้า) โดยรูปแบบดีไซน์จะต้องออกแบบตั้งแต่ขนาดหน้าจอ คอมพิวเตอร์ มือถือ และ แท็บเล็ต รวมถึงการออกแบบลูกเล่นต่างๆให้เว็บไซต์มีความน่าสนใจมากขึ้น
ปัจจัยที่ 4 เซิร์ฟเวอร์ และ โดเมน
การทำเว็บไซต์ไม่ว่าจะเป็นเว็บเล็กหรือเว็บใหญ่ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ เพราะเซิร์ฟเวอร์ และ โดเมนคือที่อยู่ของเว็บไซต์เรา โดเมนเปรียบเสมือนบ้านเลขที่ ส่วนเซิร์ฟเวอร์เปรียบเสมือนพื้นที่ของบ้าน เราจะมีแค่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เด็ดขาด
เริ่มจากงบของโดเมน ค่าใช้จ่ายจะเป็น Fixed Cost ที่ทุกปีจะจ่ายเท่ากัน ส่วนมากเว็บไซต์บริษัทจะจดกันระยะยาวคือ 3 – 4 ปี แล้วต่อเพิ่มอีกทีละ 2 ปี โดยราคาจะอยู่ที่เป็น Dot แบบไหน เช่น .com ที่เป็นมาตรฐานราคาจะถูก ถ้าเป็น .co.th ที่เว็บบริษัทชอบใช้ก็จะแพงขึ้นมาอีกหน่อย สามารถตรวจสอบราคาได้ที่เว็บไซต์ Pathosting โดยราคามาตรฐาน .com จะอยู่ที่ 300 – 400 บาท/ปี และ .co.th จะอยู่ที่ 600 – 700 บาท/ปี
ในส่วนของเซิร์ฟเวอร์อันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการเลือกขนาดเซิร์ฟเวอร์ต้องคํานวณความเหมาะสมของ 2 ปัจจัย คือ
1. จำนวนข้อมูลบนเว็บไซต์ คล้ายๆกับหลักการเก็บข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ เช่น คอมพิวเตอร์ของเรามี HDD ที่เก็บข้อมูลได้ 1 TB เราก็สามารถใส่ข้อมูลได้จนเต็ม แต่ตัวเว็บไซต์ไม่ได้มีข้อมูลเยอะขนาดนั้น ขนาดของเซิร์ฟเวอร์ที่เราแนะนำก็คือ 50GB (Disk Space) ขึ้นไปในช่วงแรก หากข้อมูลมีการเพิ่มเราสามารถแจ้งทางผู้ให้บริการสามารถเพิ่มได้ในอนาคต
2. จำนวนคนเข้า เมื่อเรามีข้อมูลบนเว็บไซต์ดเวลามี User 1 คนจะมีการเรียก Bandwidth จากเว็บไซต์ แต่ละ User จะมีการเรียก Bandwidth ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างถ้าหากเว็บไซต์เรา 1 หน้ามีขนาด 3 MB มี User เข้าใช้งาน 3 หน้าเท่ากับเราจะเสีย Bandwidth ประมาณ 9 MB ขนาดของ Bandwidth ที่เราแนะนำในช่วงแรกที่เปิดเว็บไซต์จะอยู่ที่ 600 GB/เดือน
โดยราคาจะอยู่ที่ 10,000 – 15,000 บาท/ปี (ราคาของแต่ละผู้ให้บริการไม่เท่ากัน)
ปัจจัยที่ 5 การดูแลเว็บไซต์
เมื่อทำเว็บให้ออนไลน์เสร็จสิ้นต่อไปก็คือเรื่องของการดูแล อย่างที่บอกไปว่าเว็บไซต์เปรียบเสมือนบ้าน 1 หลัง เมื่อมีการอยู่ไปนานๆย่อมมีการสึกหรอเป็นปกติ การดูแลจะแบ่งเป็น 2 แบบคือ
1. การดูแลระบบ คือการคอยอัปเดตประสิทธิภาพต่างๆของระบบหลังบ้าน ถ้าเราใช้ CMS อย่างเช่น WordPress ก็จะต้องเข้ามาอัปเดต Plugin หรือตัว CMS ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด เพื่อป้องกันการโดนโจมตีจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือ ถ้าหาก Web Browser ต่างๆเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอาจจะต้องเข้ามาเช็คชุด Code ว่ายังสามารถทำงานได้ดีอยู่หรือไม่
2. การอัปเดตข้อมูล เปรียบเสมือนการตกแต่งบ้านให้มีสวยมากขึ้นของบางชิ้นเก่าไม่ได้ใช้ก็ต้องทิ้งไม่ก็เก็บเข้ากล่อง การอัปเดตข้อมูลก็เหมือนกันเราจะต้องคอยปรับเนื้อหาบนเว็บให้มีความสดใหม่เสมอทั้งข่าวสารหรือข้อมูลแต่ละหน้าที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา
เว็บไซต์บริษัทหลายแห่งเรื่องที่จะให้ทาง Agency ดูแลระบบอย่างเดียว แต่การอัปเดตข้อมูลจะเป็นทางบริษัทที่คอยเข้ามาเพิ่มเพราะยังไงแล้วข้อมูลที่มาจากทางบริษัทก็ย่อมรวดเร็วกว่าการส่งต่อให้ Agency ทำงานอีกทอดนึง
งบประมาณต่อเดือนในการดูแลก็จะแตกต่างกันออกไป ในเรทกลางการดูแลระบบจะอยู่ที่ 10,000 – 20,000 บาท/เดือน (รวมแก้ไขเมื่อมี Bug หรือ ข้อผิดพลาดต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต)
ปัจจัยที่ 6 เพิ่มประสิทธิภาพ
5 ปัจจัยที่กล่าวมานั้นก็ครอบคลุมการทำเว็บไซต์บริษัทเกือบหมดแล้ว ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพก็จะมีหลายประเด็นส่วนนี้สามารถเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ โดยจะต้องดูความคุ้มค่าที่ย้อนกลับมาว่าถ้าลงงบประมาณไปแล้วจะคุ้มแค่ไหน
การเพิ่มความเร็วให้เว็บไซต์ ถ้าอยากให้เว็บไซต์ติดหน้าแรก Google ปัจจัยที่ควรใส่ใจอันดับแรกๆคือเรื่องของความเร็ว เว็บไซต์เมื่อสร้างเสร็จข้อมูลหรือชุด Code จะมีรายละเอียดที่เยอะมาก การเพิ่มประสิทธิภาพให้ความเร็วของเว็บไซต์ดีขึ้นคือสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่าง Project Greenday Snack เราก็ได้ ทำให้ความเร็วของเว็บไซต์อยู่ในระดับสูงเพื่อหวังผลการทำ SEO ในอนาคต
นอกจากเรื่องความเร็วของเว็บไซต์แล้วจะมีเรื่องอื่นๆเช่น Marketing Tools, CRM Management System ที่จะสามารถเพิ่มความสามารถของเว็บไซต์ได้อีก ซึ่งแต่ละเว็บไซต์ก็จะมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน การเลือกเพิ่มประสิทธิภาพจะต้องดูที่เป้าหมายด้วย
สรุปงบประมาณคร่าวๆ
จะขอยกมาแค่ 5 ปัจจัยสำหรับการสรุปงบประมาณเท่านั้น เพราะปัจจัยที่ 6 การเพิ่มประสิทธิภาพ เราสามารถเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ถ้าแยากค่าใช้จ่ายแต่ละส่วนออกมาจะสรุปได้ตามนี้
จำนวนหน้า รวมการทำ HTML CSS หน้าละ 4,000 บาท 20 หน้า = 80,000 บาท
งานออกแบบทั้งโปรเจค = 100,000 บาท
ระบบเว็บไซต์พื้นฐาน (CMS, ข่าวสาร, บทความ, ฟอร์มการติดต่อ) = 100,000 บาท
เซิร์ฟเวอร์ และ โดเมน = 10,500 บาท(ปีแรก)
ค่าดูแลหลังเว็บไซต์ออนไลน์ 120,000 บาท/ปี (ส่วนมาก 6 เดือนแรกมีรับประกันและดูแลฟรี)
เมื่อรวมแล้วงบประมาณในการทำเว็บไซต์ในช่วงเริ่มต้นจะประมาณ 290,000+ บาท
(เรทราคาอ้างอิงจาก Digital Agency & Web Agency และอ้างอิงสโคปงานของบริษัทขนาดใหญ่)
ถ้าหากคุณกำลังมีโปรเจคในการทำเว็บไซต์บริษัทใหม่ สามารถปรึกษาพวกเรา Grappik ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากต้องการดูผลงานของเราเพิ่มเติมก็สามารถดูได้ที่หน้า ผลงานของเรา หรือถ้าดูผลงานแล้วถูกใจอยากให้พวกเราช่วยสร้างเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ธุรกิจให้กับคุณสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน้า บริการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์
และถ้าคุณอยากรู้วิธีมองหาบริษัททำเว็บไซต์ทั้งทีต้องรู้ข้อมูลเบื้องลึกอะไรบ้าง เราก็มีบทความมาแนะนำให้ทุกคนได้ศึกษาวิธีในการหาบริษัททำเว็บไซต์สักที่มาช่วยงานทีมของคุณในบทความได้เลย